สกลนคร เป็นเมืองพุทธศาสน์ พระธาตุห้าแห่ง แหล่งอารยธรรมสามพันปี
ตามตำนานเล่าว่า เมืองหนองหานหลวงในอดีต หรือสกลนครในปัจจุบันนั้น
สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 16 ในยุคที่ขอมมีอำนาจในดินแดนนี้
ต่อมาเมื่ออิทธิพลขอมเสื่อมลง เมืองหนองหานหลวงตกไปอยู่ในความปกครองของอาณาจักรล้านช้าง
เรียกชื่อเมืองว่า“เมืองเชียงใหม่หนองหาน” และเมื่อมาอยู่ในความปกครองของไทย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสกลทวาปี” ต่อมา ในปี พ.ศ. 2373 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้เปลี่ยนชื่อจากเมืองสกลทวาปี เป็น “เมืองสกลนคร” ในปัจจุบัน จังหวัดสกลนครยังได้รับการขนานนามว่าเป็น"แอ่งธรรมะแห่งอีสาน"
ดังเห็นหลักฐานได้จากวัดวาอารามเก่าแก่ที่มีอยู่มากมาย
แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่มีมาตั้งแต่ครั้งอดีต
เป็นถิ่นกำเนิดและพำนักของอริยสงฆ์ที่สำคัญเป็นที่เคารพบูชา ของชาวไทยหลายท่าน
อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัน อุตตโม
หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น
จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 647 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 9,605 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสกลนคร
อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอ พรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอส่องดาว
อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภออากาศอำนวย อำเภอบ้านม่วง อำเภอพังโคน
อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเจริญศิลป์
อำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอภูพาน